ในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าหน่วยเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจนั้นอาจมีลักษณะการใช้ทรัพยากรที่ไม่สมดุลกันกล่าวคือ บางหน่วยเศรษฐกิจอาจมีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่มากกว่าทรัพยากรที่ตนมีอยู่ในปัจจุบัน ในขณะที่บางหน่วยเศรษฐกิจอาจมีทรัพยากรเหลือใช้เกินความต้องการ ดังนั้นหากมีการโอนทรัพยากรส่วนที่เหลือใช้นำไปให้ผู้ที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรและก่อให้เกิดประโยชน์ได้ โดยตกลงว่าจะมีการชำระคืนแก่เจ้าของเดิมในอนาคต การจัดสรรการใช้ทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในทางกฎหมายอาจเรียกหน่วยเศรษฐกิจที่เป็นผู้รับทรัพยากรนั้นว่าลูกหนี้ซึ่งมีภาระหนี้สินเกิดขึ้น และเรียกหน่วยเศรษฐกิจที่เป็นผู้ให้ยืมทรัพยากรนั้นว่าเป็นเจ้าหนี้หรือเป็นผู้ให้สินเชื่อนั่นเอง ดังนั้นสินเชื่อจึงหมายถึง อำนาจในการเข้าถึงการใช้สินค้าและบริการ โดยสัญญาว่าจะชดใช้คืนในอนาคต โดยสินเชื่ออาจอยู่ในรูปของสินค้าและบริการหรืออยู่ในรูปของเงินก็ได้ เช่น การขอยืมข้าวสารจากเพื่อนบ้านมาบริโภคและหามาคืนในภายหลัง หรือการได้รับสินเชื่อเป็นเงินสดหรือบัญชีกระแสรายวันจากธนาคารพาณิชย์โดยมีข้อตกลงที่จะชำระคืนในอนาคตตามที่ตกลงกัน เป็นต้น
ภาพรวมของการเกิดขึ้นของสินเชื่อและความสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโดยภาคการเงินเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรในภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มจากการที่หน่วยเศรษฐกิจที่มีรายได้มากกว่าความต้องการใช้จ่ายทำให้เกิดส่วนรั่วไหลจากระบบเศรษฐกิจกลายเป็นการออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ออมผ่านระบบธนาคารพาณิชย์หรือการออมผ่านตราสารทางการเงินอันได้แก่ตราสารหนี้ประเภทต่าง ๆ จากนั้นหน่วยเศรษฐกิจที่มีความต้องการใช้จ่ายมากกว่าทรัพยากรที่ตนมีอยู่ก็จะขอกู้หรือขอสินเชื่อจากหน่วยเศรษฐกิจที่ออมเงิน โดยมีอัตราดอกเบี้ยเป็นราคาของทุนในการที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรจากผู้ออมไปสู่ผู้กู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้กู้นั้นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล (เช่น การขาดดุลงบประมาณ) หรือเอกชนก็แล้วแต่ จะนำสินเชื่อเหล่านี้ไปใช้จ่ายซึ่งเป็นการอัดฉีดเงินที่รั่วไหลกลับเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เรามักพบว่าโดยปกติสินเชื่อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรูปของการได้รับสินเชื่อจากระบบสถาบันการเงินเพื่อการลงทุนในกิจการเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ ในที่นี้จึงจะได้กล่าวถึงลักษณะของอุปสงค์และอุปทานของสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ดังนี้
โดยสรุปคือ การให้สินเชื่อจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้กู้มีความต้องการในการกู้และผู้ให้กู้ซึ่งมีเงินมากพอต่อความต้องการของผู้กู้พิจารณาอย่างมีเหตุมีผลแล้วว่าสมควรให้กู้ ธุรกรรมจึงเกิดขึ้น